รีวิวหนัง อนงค์ ยัยผีทำไมน่ารักขนาดนี้..บ้าจัง
- รีวิวหนัง อนงค์ ความน่าสนใจแรกของ อนงค์ ก็คือ นี่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในรอบ 17 ปีของ เอส-คมกฤษ ตรีวิมล ที่เคยฝากความประทับใจจากหนังรักอย่าง เพื่อนสนิท และหนังคอเมดี้ทั้ง หนูหิ่นเดอะมูฟวี่ และ สายลับจับบ้านเล็ก
- โครงเรื่องความรักที่เป็นไปไม่ได้ระหว่างผีกับคนถูกเอามาใช้บ่อยๆ ทั้งในหนังและละครไทย แต่ความโดดเด่นของ อนงค์ คือใส่ความน่ารักระดับลาบูบู้ 20 ตัวเข้ามาในเรื่อง โดยเฉพาะการเลือกแคสต์นักแสดงอย่างโบว์ เมลดา มารับบทอนงค์
- สำหรับ อนงค์ คือความแปลกใหม่ ส่วนเส้นเรื่องก็บางเบาจนเหมือนมีไว้แค่สร้างสถานการณ์สำหรับวางมุกตลกลงไปเท่านั้น ซึ่งก็ยอมรับว่าผู้กำกับยังคงแม่นเรื่องจังหวะ เพียงแต่ว่ามุกตลกในเรื่องค่อนข้างเก่าและพอจะเดาทางได้หมด
ความน่าสนใจแรกของ รีวิวหนัง อนงค์
นอกจากความน่ารักสดใสของ “โบล์ เมลดา” ที่ตลบอบอวนไปทั่วตั้งแต่ที่ได้เห็นตัวอย่างหนังแล้ว ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ หนีไม่พ้นการที่มีชื่อของ “เอส คมกฤษ ตรีวิมล” กลับมารับหน้าที่ผู้กำกับอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายจากการทำหนังใหญ่นานถึง 17 ปี เนื่องจากผลงานล่าสุดของเจ้าตัวอย่าง “สายลับจับบ้านเล็ก” นั้นต้องย้อนกลับไปถึงปี พ.ศ. 2550 เลยทีเดียว ซึ่งจากผลงานทั้งกับ แฟนฉัน (2546) และ เพื่อนสนิท (2548) ก็น่าจะพอให้เราได้คาดหวังถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้เรื่องราวความโรแมนติกระหว่างคนกับผีในครั้งนี้ได้พอสมควรเลย
ถ้าว่ากันตามตรงแล้ว “อนงค์” ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีการเล่าเรื่องที่ดีเลยแม้แต่น้อย ทุกอย่างมันดูรวบรัด ตัดตอน ไม่ปะติดปะต่อ ไม่เป็นธรรมชาติ และพยายามเหลือเกินที่จะได้ “ขาย” ฉากจิ้นกันระหว่างคู่พระนาง จนละทิ้งความสมเหตุสมผลทั้งปวงออกไป ทั้งในแง่ของการเดินเรื่อง การใส่อุปสรรคเข้ามาทดสอบตัวละคร และจุดวิกฤตสำคัญของเรื่อง เช่น การได้บ้านหลังนี้มา การเปิดกิจการบ้านผีสิง หรือกระทั่งบทสรุปในตอนท้าย แทบจะไม่มีอะไรที่เรียกได้ว่าเป็น “ความยากลำบาก” ที่พระเอกของเรื่องอย่างโจต้องก้าวผ่านเลยแม้แต่น้อย
ดังนั้นหลักๆ ของเรื่องจึงโฟกัสอยู่ที่บ้านผีสิงของโจกับตัวละครผีทั้งสามและกลุ่มวัยรุ่นนักท่องบ้านผี ซึ่งถ้าว่ากันในแง่ของความตลก ความบันเทิง ก็มีมาให้เห็นเป็นระยะๆ ในช่วงแรกเน้นความตลกจากผีคนรับใช้ของอนงค์ อย่างทองก้อน (แจ็ค-เฉลิมพล ทิฆัมพรธีรวงศ์) และทองหยิบ (ฝน-ทัตชญา ศุภธัญสถิต/Monsterfon) ที่ออกมารับส่งมุกกันเริงร่า โดยที่คนหลังใช้สกิลฝีปากอันจัดจ้านสร้างความโดดเด่นได้มากกว่าตัวของแจ็ค แฟนฉัน ที่อยู่ในวงการมานานกว่าเสียอีก
แต่ก็ไม่รู้ว่าเล่าอีท่าไหน ทำให้ในช่วงหลังของเรื่องบทบาทของทั้งคู่กลับหายไปอย่างเห็นได้ชัด กลายมาเป็นตัวละครเสริมอีกกลุ่มที่นำโดย ก้อง เด็กแว้นประจำหมู่บ้าน (ธามไทย แพลงศิลป์) โผล่ขึ้นมามีบทแทน และมุก “ผีสิง” ในระหว่างนี้ก็เป็นมุกที่ดีที่สุดและน่าจดจำที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ไปซะอย่างนั้น แถมยังถูกใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านของเรื่องด้วย ในขณะที่ตัวละครสมทบอื่นๆ ก็โผล่เข้ามาสร้างสีสันกันประปราย รวมถึงนักแสดงรับเชิญที่เข้ามาแบบ “แว่บๆ” อีกหลายชีวิต
สรุป อนงค์
งานในการกลับมากำกับอีกครั้งของ เอส คมกฤษ ที่อาจจะไม่ใช่งานที่เลิศเลออะไร แต่ก็สามารถสร้างความพึงพอใจในภาพรวมของเรื่องได้เป็นอย่างดี หลักๆ แล้วมาจากศักยภาพการขายความน่ารักของ โบว์ เมลดา และฉากเซอวิสต่างๆ นานา ไปควบคู่กับความตลกแบบไร้พิษภัย ปราศจากคำหยาบ ซึ่งพอจะกลบข้อเสียอื่นๆ ไปได้อย่างแนบเนียน